วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

นาฎศิลป์พื้นบ้าน

ระบำ รำ ฟ้อน
ระบำ รำ ฟ้อน จัดเป็นนาฏศิลป์ไทยอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้ให้ความหมายเช่นเดียวกัน              แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการร่ายรำ   การเรียกการแสดงชุดนั้นๆว่า ระบำ รำ หรือฟ้อน นั้น จะเรียกต่างกัน ส่วนใหญ่มักคำนึงถึงผู้แสดง  หรือตามท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ถ้าแสดงเดี่ยวหรือแสดงเป็นคู่ เน้นฝีมือในลีลาท่ารำเป็นสำคัญ เรียกว่ารำ ถ้าใช้คนเป็นหมู่เน้นความพร้อมเพรียงในการใช้ลีลา         ท่ารำ และความสวยงามของการแต่งกายเป็นสำคัญ  เรียกว่า  ระบำหรือฟ้อน  ซึ่งคำว่า "ฟ้อน"  มักจะมีขอบเขตของการใช้เรียกศิลปะการแสดงลีลาท่าทางเฉพาะของท้องถิ่นลานนา เป็นต้น
                        ในด้านประเภทของการแสดงระบำ และรำนั้น จะแตกต่างกัน โดยแบ่งออกได้ดังนี้
                                      ประเภทของระบำ การแสดงระบำ จำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑)      ระบำมาตรฐาน เช่น  ระบำสี่บท  ระบำกฤดาภินิหาร  ระบำดาวดึงส์  เป็นต้น
๒)    ระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่
๒.๑  ปรับปรุงมาจากพื้นบ้าน เช่น  ระบำงอบ  ระบำกะลา  เป็นต้น
๒.๒ ปรับปรุงมาจากท่าของสัตว์  เช่น  ระบำนกยูง  ระบำไก่  ระบำปลา  เป็นต้น
๒.๓ ปรับปรุงมาจากตามเหตุการณ์  เช่น  ระบำพระประทีป  ระบำโคมไฟ 
         เป็นต้น
๒.๔ ปรับปรุงขึ้นใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน  เช่น  ระบำสูตรคูณ  ระบำ
          วรรณยุกต์   เป็นต้น
                                      รำ มี ๒ แบบ คือ
                                ๑. รำแบบมาตรฐาน  เช่น  รำฉุยฉายพราหมณ์  รำฉุยฉายเบญจกาย  เป็นต้น
                                ๒.รำที่ไม่จัดเป็นการรำแบบมาตรฐาน  เช่น  รำสีนวล  รำอธิษฐาน  รำแม่ศรี  เป็นต้น






นาฏศิลป์พื้นบ้าน
                        นาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีทั้งรำ  ระบำ  หรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนตามวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค  ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคได้ ๔  ภาค  ดังนี้
              ๑.  นาฎศิลป์พื้นบ้านของภาคกลาง  เป็นศิลปะการร่ายรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้านภาคกลาง  หนักไปทางโต้ตอบกันด้วยคำพูดอันมีคารมคมคาย  จึงออกมาในรูปแบบของเพลงพื้นเมือง เช่น เพลงเรือ  เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เป็นต้น  ส่วนการแสดงพื้นบ้านที่ออกมาในรูปของนาฎศิลป์พื้นบ้าน  ได้แก่  รำโทน  รำเถิดเทิง  รำวงและระบำต่าง ๆ ที่มีการประดิษฐ์ขึ้นใหม่  เช่น  ระบำชาวนา  เป็นต้น
               ๒. นาฎศิลป์พื้นบ้านของภาคเหนือ  เป็นศิลปะการรำ  และการละเล่น  หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า  ฟ้อน  การฟ้อนเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา  และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ  เช่น  ชาวไต  ชาวลื้อ  ชาวยอง  ชาวเขิน  เป็นต้น  ลักษณะของการฟ้อน  มีลีลาท่ารำที่แช่มช้า  อ่อนช้อยมีการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงาม โอกาสที่แสดงมักเล่นกันในงานประเพณีหรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนครัวทาน ฟ้อนสาวไหมและฟ้อนเจิง
               ๓.  นาฎศิลป์พื้นบ้านของภาคอีสาน  เป็นศิลปะการรำและการเล่นของ              ชาวพื้นบ้านภาคอีสาน  หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  แบ่งได้เป็น  ๒ กลุ่มวัฒนธรรม ใหญ่ ๆ คือ  กลุ่มอีสานเหนือ  มีวัฒนธรรมไทยลาวซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า  เซิ้ง   ฟ้อน  และ    หมอลำ  เช่น  เซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งสวิง  ฟ้อนภูไท  ลำกลอนเกี้ยว  ลำเต้ย    ส่วนกลุ่มอีสานใต้ได้รับอิทธิพลไทยเขมร   มีการละเล่นที่เรียกว่า  เรือม  หรือ เร็อม  เช่น  เรือมลูดอันเร  หรือรำกระทบสาก  รำกระโน๊มติงต๊อง  หรือระบำตั๊กแตน ตำข้าว  รำอาไย  หรือรำตัด  หรือเพลงอีแซวแบบภาคกลางวงดนตรี  การแต่งกายประกอบการแสดงเป็นไปตามวัฒนธรรมของพื้นบ้าน ลักษณะท่ารำและท่วงทำนองดนตรีในการแสดงค่อนข้างกระชับ รวดเร็ว และสนุกสนาน
               ๔.  นาฎศิลป์พื้นบ้านของภาคใต้  จัดว่ามีเอกลักษณ์เด่นชัดเฉพาะตัว ความกระฉับเฉง หนักแน่น มั่นใจ ที่แฝงไว้ด้วยความอ่อนช้อย เป็นการแสดงออกทางศิลปะซึ่งสะท้อนภาพของการดำเนินชีวิตที่ต้องต่อสู้ทั้งภัยธรรมชาติ ความพยายามที่จะคงวัฒนธรรมของตนท่ามกลางการเข้ามาของวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน การนับถือศาสนา และอื่นๆ

                               
การแสดงพื้นบ้านของภาคใต้สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑. การแบ่งตามรูปแบบการเล่น แยกออกเป็น ๓ ลักษณะ คือ
                ๑.  เพลงพื้นบ้าน แบ่งตามโอกาสที่เล่นได้ ๒ ชนิด คือ
๑.๑  เพลงที่ใช้เล่นตามฤดูกาลหรือเทศกาล  เช่น  เพลงนา  เพลงบอก  เป็นต้น
๑.๒  เพลงที่ใช้เล่นได้ทุกโอกาส  เช่น  เพลงตันหยง และลิเกฮูลู  เป็นต้น
                ๒. ระบำพื้นบ้าน  เช่น  รองเง็ง  ซัมเปง  ดาระ  เป็นต้น
                ๓. ละครชาวบ้าน  เช่น  หนังตะลุง  มโนห์รา  ลิเกป่า  เป็นต้น

๒. การแบ่งตามกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม แยกออกเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑.      การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยพุทธ  เช่น  หนังตะลุง  มโนห์รา  เป็นต้น
๒.    การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยมุสลิม    เช่น  ลิเกฮูลู  รองเง็ง  ซัมเปง  เป็นต้น
๓.     การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยพุทธ และไทยมุสลิม  ลิเกป่า  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น